จัดการงานศพ (พิธีฌาปนกิจ) มีขั้นตอนอะไรบ้าง

Last updated: 28 ส.ค. 2567  |  4435 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จัดการงานศพ (พิธีฌาปนกิจ) มีขั้นตอนอะไรบ้าง สรุปทุกเรื่องต้องรู้ที่นี่

การจัดงานศพเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมไทย เป็นการแสดงความเคารพและอาลัยต่อผู้ล่วงลับ รวมถึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่ญาติมิตรจะได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้จากไป เพื่อให้คุณสามารถจัดการงานศพให้กับคนที่คุณรักได้อย่างสะดวกและเหมาะสม Miss Mamon ได้สรุปข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับขั้นตอนจัดการงานศพ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ให้แล้ว มาดูรายละเอียดกันเลย

ขั้นตอนจัดการงานศพ (ศาสนาพุทธ)

การจัดงานศพตามศาสนาพุทธมีหลายขั้นตอนสำคัญ ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนมีความหมายและคุณค่าทางจิตใจ ทั้งต่อผู้ล่วงลับและญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้คุณสามารถจัดการงานศพให้กับผู้ล่วงลับได้อย่างราบรื่น เราได้สรุปขั้นตอนการจัดงานศพมาให้แล้ว มีรายละเอียดดังนี้

1. แจ้งบันทึกการเสียชีวิตและขอใบมรณะบัตร

เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้กระบวนการจัดการงานศพและการจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องดำเนินการคือการแจ้งการตายอย่างเป็นทางการ แบ่งเป็น 2 กรณีหลัก ๆ ดังนี้

  • กรณีเสียชีวิตที่บ้าน : เจ้าของบ้านหรือผู้พบศพต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่พบศพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกใบรับแจ้งการตายให้
  • กรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาล : ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการออกหนังสือรับรองการตายให้ 

 

หลังจากนั้นให้นำเอกสารที่ได้รับ (ใบรับแจ้งการตายหรือหนังสือรับรองการตาย) พร้อมบัตรประชาชนของผู้เสียชีวิตและสำเนาทะเบียนบ้าน ไปยื่นที่สำนักงานเขตหรืออำเภอในพื้นที่ที่ผู้เสียชีวิตมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการออกใบมรณบัตรให้ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ระบุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการ

สำหรับผู้ล่วงลับที่มีสิทธิประกันสังคม สามารถนำใบมรณบัตรไปแจ้งที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ค่าทำศพ 40,000 บาท หรือเงินสงเคราะห์ให้กับทายาท หรือผู้มีสิทธิ์ เป็นต้น

2. แจ้งวัดเพื่อจองสถานที่จัดงานศพ

 

หลังจากได้ใบมรณบัตรแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการติดต่อวัดเพื่อจองสถานที่สำหรับจัดงานศพ ซึ่งประกอบด้วยพิธีกรรมสำคัญหลายอย่าง เช่น

  • อาบน้ำศพ : เป็นพิธีชำระร่างกายผู้เสียชีวิตครั้งสุดท้าย มีความหมายทางจิตใจในการทำความสะอาดทั้งกายและใจก่อนจากไป
  • รดน้ำศพ : เป็นพิธีที่ญาติมิตรร่วมกันรดน้ำให้ผู้เสียชีวิตเพื่อขอขมาและอโหสิกรรม
  • สวดพระอภิธรรม : เป็นการสวดบทสวดทางพุทธศาสนาเพื่ออุทิศกุศลให้ผู้เสียชีวิต โดยทั่วไปจะจัดขึ้น 3, 5, หรือ 7 คืน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของครอบครัว

 

โดยคุณจะต้องสอบถามวัดเกี่ยวกับวันและเวลาที่สามารถจัดงานได้, ค่าใช้จ่ายในการใช้สถานที่, สิ่งที่ทางวัดจัดเตรียมให้ และสิ่งที่เจ้าภาพต้องจัดหาเอง รวมถึงกฎระเบียบหรือข้อปฏิบัติเฉพาะของวัดนั้น ๆ ซึ่งการวางแผนและจองสถานที่ล่วงหน้าจะช่วยให้การจัดงานเป็นไปอย่างราบรื่น และลดความเครียดให้กับครอบครัวในช่วงเวลาที่ยากลำบากได้มาก

 

3. เคลื่อนย้ายผู้ล่วงลับไปที่วัด

ถ้าเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะมีบริการรถเคลื่อนย้ายศพ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับญาติ แต่ถ้าเสีชีวิตที่บ้าน หรือสถานที่อื่น ญาติอาจต้องจัดหารถเคลื่อนย้ายศพเอง โดยสามารถติดต่อบริษัทรับจัดการงานศพหรือมูลนิธิที่ให้บริการด้านนี้ได้เลย

สำหรับขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ล่วงลับไปวัด มีสิ่งที่ต้องเตรียมดังนี้

  • ควรนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 1 รูป มาทำพิธีสวดนำศพระหว่างการเคลื่อนย้าย
  • ถ้าต้องเดินทางระยะไกล ควรเตรียมน้ำแข็งหรืออุปกรณ์รักษาสภาพศพระหว่างการเคลื่อนย้ายให้พร้อม
  • อย่าลืมตรวจสอบเส้นทางและเวลาที่เหมาะสมในการเคลื่อนย้ายศพ เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด
  • เตรียมเอกสารที่จำเป็น เช่น ใบมรณบัตร ไว้ให้พร้อมเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่วัดเมื่อไปถึง
  • แจ้งญาติและผู้ใกล้ชิดให้ทราบเวลาและสถานที่ที่จะนำศพไป เผื่อมีผู้ประสงค์จะมาร่วมพิธี

 

4. ทำพิธีรดน้ำศพ

พิธีรดน้ำศพเป็นการชำระร่างกายผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนจากไป จัดเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายทางจิตใจอย่างมาก เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ผู้ยังมีชีวิตจะได้แสดงความรักและความเคารพต่อผู้ล่วงลับ มี 3 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

การเตรียมศพ

  • อาบน้ำศพให้สะอาด โดยใช้น้ำอุ่นผสมมะกรูดหรือมะนาว เพื่อชำระร่างกาย
  • สวมเสื้อผ้าชุดสีขาว หรือชุดที่ผู้เสียชีวิตชอบใส่
  • ทาแป้งหรือน้ำหอมเบา ๆ เพื่อความสะอาดและความหอม
  • วางศพบนเตียงหรือโต๊ะที่จัดเตรียมไว้ โดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก

การจัดเตรียมสถานที่

  • จัดวางโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยไว้เหนือศีรษะผู้เสียชีวิต
  • วางเตียงศพด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา
  • จัดเตรียมขันน้ำพร้อมขมิ้นและใบไม้มงคล (เช่น ใบเงิน ใบทอง) สำหรับรดน้ำศพ

ขั้นตอนพิธีรดน้ำศพ

  • เริ่มจากญาติผู้ใหญ่ หรือผู้อาวุโสที่สุด
  • ใช้ขันตักน้ำจากภาชนะที่เตรียมไว้
  • รดน้ำที่มือขวาของผู้เสียชีวิต พร้อมกล่าวคำไว้อาลัยหรือขอขมา
  • วางดอกไม้จันทน์บนมือผู้เสียชีวิต
  • ญาติและผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ทำตามลำดับ

 

5. จัดงานสวดอภิธรรมศพ

 

การสวดพระอภิธรรมศพเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญมาก มีจุดประสงค์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต และเป็นโอกาสให้ญาติมิตรได้ร่วมทำบุญ โดยชาวพุทธเชื่อกันว่า เสียงสวดมนต์จะช่วยนำทางวิญญาณของผู้เสียชีวิตไปสู่สุคติได้

ระยะเวลาการจัดงานสวดอภิธรรมศพนั้น โดยทั่วไปจัดขึ้น 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน แต่ก็มีบางกรณีอาจจัดสวดต่อเนื่องจนครบ 100 วัน หรือจนถึงวันฌาปนกิจเลย ขึ้นอยู่กับความสะดวกของครอบครัวและฐานะทางการเงิน

การเตรียมการจัดงานสวดอภิธรรมศพ

  • นิมนต์พระสงฆ์ (โดยทั่วไป 4 รูป) มาสวดพระอภิธรรม
  • จัดเตรียมเครื่องไทยธรรมถวายพระ
  • จัดสถานที่ให้เหมาะสม มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์และผู้มาร่วมงาน

ขั้นตอนการสวดพระอภิธรรม

  • จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
  • พระสงฆ์สวดบทพระอภิธรรม (โดยปกติ 4 จบ)
  • ระหว่างการสวด ญาติและผู้ร่วมงานนั่งฟังด้วยความสงบ
  • เมื่อสวดจบ มีการถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
  • พระสงฆ์ให้พรและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล

กิจกรรมเสริมในช่วงสวดพระอภิธรรม (มี หรือไม่มีก็ได้)

  • อาจมีการเทศน์หรือบรรยายธรรมะ
  • ญาติอาจเล่าประวัติและคุณงามความดีของผู้เสียชีวิต
  • มีการแจกของที่ระลึกให้ผู้มาร่วมงาน

 

6. ทำพิธีฌาปนกิจศพ

พิธีฌาปนกิจศพเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจัดงานศพ เป็นการส่งผู้เสียชีวิตสู่สัมปรายภพ (ภพหน้า) มีขั้นตอนสำคัญดังนี้

    • การเตรียมการก่อนวันฌาปนกิจ : กำหนดวันและเวลาที่เหมาะสม แจ้งญาติมิตรและผู้ที่ต้องการมาร่วมงาน และจัดเตรียมดอกไม้จันทน์สำหรับแจกผู้มาร่วมงานให้เรียบร้อย
  • ขั้นตอนในวันฌาปนกิจ :
    • พิธีสงฆ์ : นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมาติกาบังสุกุล และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
    • การเวียนศพ : นิมนต์พระสงฆ์ 1 รูปนำขบวนแห่ศพ โดยเจ้าภาพและญาติใกล้ชิดถือเครื่องทองน้อยหรือกระถางธูป และเวียนรอบเมรุ 3 รอบ ทวนเข็มนาฬิกา แต่ละรอบมีความหมายตามหลักไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
  • พิธีกรกล่าวประวัติผู้เสียชีวิต : สรุปชีวประวัติและคุณงามความดีของผู้เสียชีวิต ถือเป็นการรำลึกถึงและให้เกียรติผู้จากไปเป็นครั้งสุดท้าย
  • การมอบดอกไม้จันทน์ : ผู้ร่วมงานเข้าแถวเพื่อวางดอกไม้จันทน์ และอาจมีการกล่าวคำไว้อาลัย หรือขอขมาเป็นครั้งสุดท้าย
  • การเผาศพ : เจ้าภาพจุดไฟที่เชิงตะกอน ญาติและแขกผู้มีเกียรติร่วมวางดอกไม้จันทน์

 

7. เก็บอัฐิไปลอยอังคาร

หลังจากพิธีฌาปนกิจเสร็จสิ้น ขั้นตอนสุดท้ายคือการเก็บอัฐิและลอยอังคาร โดยชาวพุทธเชื่อกันว่า การลอยอังคารในแหล่งน้ำเป็นการคืนร่างกายสู่ธรรมชาติ ตามหลักธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และช่วยให้วิญญาณได้ไปสู่สุคติ มี 3 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

การเก็บอัฐิ 

  • รอให้เถ้ากระดูกเย็นลง (ปกติใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมงหลังการเผา)
  • เก็บกระดูกส่วนสำคัญ 6 ส่วน ได้แก่ กะโหลกศีรษะ กระดูกคอ กระดูกไหปลาร้า กระดูกสันหลัง กระดูกสะบัก และกระดูกหัวเข่า
  • นำอัฐิใส่ในโกศหรือภาชนะที่เตรียมไว้

พิธีบังสุกุลอัฐิ

  • นิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสุกุลอัฐิ
  • ญาติร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตอีกครั้ง

การลอยอังคาร

  • นำอังคาร (เถ้ากระดูกส่วนที่เหลือ) ไปลอยในแม่น้ำหรือทะเล
  • อาจเลือกสถานที่ที่มีความหมายต่อผู้เสียชีวิต หรือครอบครัว

 

ค่าใช้จ่ายจัดการงานศพ มีอะไรบ้าง

 

ค่าใช้จ่ายจัดการงานศพอาจแตกต่างกันไปตามภูมิภาค สถานที่จัดงาน และความประสงค์ของครอบครัว การวางแผนล่วงหน้าและการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในการจัดงานศพจะช่วยให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไป จะมีค่าใช้จ่ายดังนี้

  • ค่าขอใบมรณะบัตร : ประมาณ 100-200 บาท ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ออกใบ
  • ค่าอาบน้ำศพและฉีดฟอร์มาลีน : ประมาณ 1,500-3,000 บาท
  • ค่าเคลื่อนย้ายศพไปวัด : ประมาณ 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง
  • ค่าโลงศพ : ตั้งแต่ 2,500 บาทไปจนถึง 100,000 บาทหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับวัสดุและการตกแต่ง
  • ค่าอาหารว่างสำหรับผู้มาร่วมงาน : ประมาณ 2,500-5,000 บาทต่อวัน
  • ค่าปัจจัยถวายพระ : ประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อวัน สำหรับพระ 4 รูป
  • ค่าเช่าศาลาสำหรับจัดงานสวดอภิธรรม : ประมาณ 10,000-15,000 บาทสำหรับ 3 วัน
  • ค่าศาลาวันเผา : ประมาณ 2,500-5,000 บาท
  • ค่าดอกไม้จันทน์ : ดอกเล็ก แพ็กละประมาณ 50 บาท, ดอกใหญ่ แพ็กละประมาณ 100 บาท แต่ถ้าเป็นช่อ จะมีราคาประมาณ 70-500 บาทต่อช่อ
  • ค่าของชำร่วย : ประมาณ 4,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนแขกและประเภทของชำร่วย
  • ค่าพนักงานยกโลงศพ ผ้าบังสุกุล และผ้าไตร : ประมาณ 4,000 บาท
  • ค่าบำรุงเมรุและน้ำมันเผา : ประมาณ 4,000-6,000 บาท
  • ค่าเก็บอัฐิและทำพิธีลอยอังคาร : ประมาณ 10,000 บาท

 

สั่ง Snack Box จัดการงานศพ กับ Miss Mamon มีบริการจัดส่งถึงสถานที่!

การจัดการงานศพเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับครอบครัวและผู้ใกล้ชิด การเตรียมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้มาร่วมงานเป็นอีกหนึ่งภาระที่ต้องจัดการ ในช่วงเวลาเช่นนี้ การใช้บริการสั่งอาหารกล่องหรือ Snack Box จึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและช่วยลดภาระได้มาก

 

สั่ง Snack Box จัดการงานศพ

Miss Mamon เป็นร้านขนมที่มีบริการ Snack Box ที่เหมาะสำหรับงานศพ ทั้งคาวและหวาน พาย ครัวซองต์ แซนวิช ที่สำคัญได้อร่อยกับมาม่อนเค้กสูตรต้นตำรับในกล่อง พร้อมเบเกอรี่และเครื่องดื่มหลากหลายให้เลือก การันตีคุณภาพความอร่อยด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี อบสดใหม่ตามออเดอร์ ไม่มีขนมค้าง ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีไม่ใส่สารกันสาร พร้อมบริการจัดส่งถึงสถานที่จัดงาน ในราคาเริ่มต้นเพียงกล่องละ 35 บาท หรือเลือกเป็นชิ้นจัดได้ยืดหยุ่นตามงบประมาณ

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถสั่งซื้อโดยตรงที่ Miss Mamon สาขาใกล้บ้าน หรือสั่งออนไลน์ผ่าน Line OA @snackboxmamon หรือเบอร์โทรศัพท์ 094-545-1441 หรือสั่งผ่านช่องทาง Delivery ที่สะดวกได้เลย รับรองว่าการสั่ง Snack Box จาก Miss Mamon จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวผู้จัดงาน ทำให้งานศพดำเนินไปอย่างราบรื่นและสมเกียรติแก่ผู้ล่วงลับแน่นอน!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้